"ตลาดจีนชากแง้ว" ถนนคนเดินสายวัฒนธรรม
"ตลาดจีนชากแง้ว" เปิดประตูรับนักท่องเที่ยว ชูความเป็นอยู่และวัฒนธรรมไทย-จีนโบราณ โดดเด่นด้วยห้องแถวไม้เรียงรายกันตลอดแนวรอบชุมชน
"ตลาดจีนชากแง้ว" ชื่อของชุมชนแห่งนี้ อาจจะถูกลืมเลือนไปบ้าง แม้ว่าจะอยู่ในเมืองพัทยา เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นเพียงผู้พักอาศัยของผู้สูงอายุ และเด็ก เพราะคนหนุ่มสาววัยทำงานต่างก็ออกไปทำงานในเมืองพัทยา กรุงเทพฯ หรือแหล่งงานอื่น ๆ ปล่อยให้ปู่ ย่า ตา ยาย อยู่เฝ้าบ้านกับลูก หลาน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เล็งเห็นถึงคุณค่าในประวัติศาสตร์ของตลาดจีนชากแง้วจึงร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ปลุกตลาดจีนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยร่วมมือกันปรับปรุงชุมชนให้กลายเป็นถนนคนเดิน เปิดขายทุกวันเสาร์ เวลา 15.00-21.00 น. ชูวิถีชีวิตเก่าแก่ตามแบบฉบับชุมชนชาวจีน
ตลาดจีนชากแง้ว ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีจุดเด่นตรงที่เป็นตลาดในชุมชนไทย-จีน ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี
นายสุธารักษ์ สุนทรวิภาต ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 กล่าวว่า ชุมชนตลาดจีนชากแง้ว มีร่องรอยของความเจริญในอดีต เห็นได้จากมีโรงหนังที่มีอายุมากกว่า 50 ปี โรงฝิ่น ร้านค้าเก่า และศาลเจ้าแม่ทับทิมหรือ "ศาลอาม๊าชากแง้ว" ซึ่งคนในชุมชนให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก โดยมีความเชื่อกันว่าเจ้าแม่ทับทิมเป็นเทพเจ้าที่ช่วยคุ้มครองชาวประมงยามออกทะเล และบันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาล
นายสุธารักษ์ สุนทรวิภาต
สำหรับประวัติขององค์เจ้าแม่ทับทิม ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่เริ่มมีการอัญเชิญมาเป็นที่สักการะของชุมชนตั้งแต่ราว 100 ปีก่อน ซึ่งมีชาวบ้านออกเรือไปหาปลาแล้วพบท่อนไม้ลอยน้ำมา จึงนำมาแกะสลักเป็นองค์เจ้าแม่ทับทิมองค์ปัจจุบัน ในทุกปีจะมีเทศกาลไหว้เจ้าแม่ทับทิม โดยมีการประทับทรง การเทกระจาด และกิจกรรมอื่นๆ เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวชุมชน มีงานประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ
ชุมชนตลาดจีนชากแง้ว มีชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านชากแง้ว ผลักดันและฟื้นฟูให้เป็นถนนสายวัฒนธรรมไทย-จีนโบราณ จุดเด่นของที่นี่คือบ้านเรือนและวิถีชีวิตแบบจีนโบราณที่หลงเหลืออยู่ โดยภายในชุมชนจะยังคงเห็นสภาพห้องแถวไม้ที่ปลูกเรียงรายเป็นทางยาวไปตลอดแนวถนนและรอบ ๆ ชุมชน มีมากกว่า 300 หลังคาเรือน มีบ่อน้ำโบราณตั้งอยู่ในชุมชน
เสน่ห์ของถนนคนเดิน คือ จะมีตั้งกฎกติการ่วมกันที่ชุมชนยอมรับ คือ จะไม่เปิดโอกาสให้คนนอกพื้นที่เข้ามาค้าขาย และจะขายสินค้าและอาหารชุมชนเท่านั้น เพื่อให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หากนักท่องเที่ยวต้องการทานอาหารชุมชนพื้นถิ่น สามารถมาทานได้ที่นี่ที่มีวิธีการปรุงตามแบบสูตรโบราณของบรรพบุรุษที่ส่งต่อให้รุ่นลูก รุ่นหลานแต่ยังคงความอร่อยเช่นเดิม อาทิ ฮ่อยจ๊อ หมูหยอง ขนมเปี๊ยะ กระเพาะปลา หมี่กรอบ หอยทอด ก๋วยเตี๋ยวปลา เป็ดไก่พะโล้ กวยจั๊บ ขนมเบื้องญวน บ๊ะจ่าง ห่อหมกปลาช่อนนา และขนมกุยช่าย
สิ่งที่ อพท. เข้าไปทำไม่ใช่เพียงแค่ทำให้ชุมชนกลับมาคึกคัก มีสีสัน เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ทำให้ผู้สูงอายุมีความภาคภูมิใจในคุณค่าในตัวเอง ขณะที่ลูกหลานได้กลับมาบ้านในช่วงวันหยุด เพื่อมาค้าขาย "ที่สำคัญกว่านั้น คือ ไม่ได้อยู่แค่ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ยังคงวิถีชีวิตเช่นเดิม แต่อยู่ที่การทำให้ครอบครัวมีความสุข ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก ได้กินข้าวร่วมกัน เพราะนั่นคือ ความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน"