"คุ้งบางกะเจ้า คลองดำเนินสะดวก" จุดหมายปลายทางที่ไม่ควรพลาด
อพท. ชู "คุ้งบางกะเจ้า" ต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน ขณะที่เน้นพัฒนาศักยภาพและยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบวิถีคลองเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่คลองดำเนินสะดวก และพื้นที่เชื่อมโยงลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง ตามเกณฑ์ GSTC
บางกะเจ้า
การพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งล้วนมีความเหมือนและแตกต่างกัน แต่ไม่ได้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคใด ๆ ของการเข้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวนั้นขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. นั่นเป็นเพราะการดำเนินงานของ อพท.จะมีแนวทางการทำงานภายใต้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria) หรือ GSTC
นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพท. เปิดเผยถึงแผนการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ คุ้งบางกะเจ้า และคลองดำเนินสะดวก ว่า อพท. ได้พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวครบทั้ง 6 ตำบล ตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เช่น ตำบลบางกอบัว วิถีคลองแพ ที่มีจุดเด่นในเรื่องของวิถีคลองที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตริมน้ำ ประเพณีตักบาตรทางน้ำ การเห่เรือ ตำบลทรงคนอง มีความโดดเด่นในวิถีวัฒนธรรมมอญ ทั้งในด้านการแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม อาหารท้องถิ่นและมีความโดดเด่น และยังคงรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตตามอย่างบรรพบุรุษ และถ่ายทอดออกมาเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ สามารถยกระดับสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ ตัวอย่างเช่น ประเพณีแห่หงส์-ธงตะขาบ หรือสงกรานต์มอญทรงคนอง การเล่นสะบ้ามอญ นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์มอญ ณ วัดคันลัด ที่เก็บสะสมของใช้และจัดทำประวัติความเป็นมาของชุมชนที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และฟื้นฟูเพื่อส่งต่อยังคนรุ่นต่อไป เป็นต้น
นางสาววัชรี ชูรักษา
ดังนั้น แนวทางการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มคุณภาพ จะเน้นการค้นหาของดีของเด่นในแต่ละชุมชนให้เพิ่มมากขึ้นควบคู่กับการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิม
ในส่วนของพื้นที่คลองดำเนินสะดวก ปีนี้มีแผนขยายจากเดิมที่พัฒนาเฉพาะเส้นทางท่องเที่ยว “วิถีคลอง วิถีไทย ตามรอยเสด็จคลองดำเนิน” ซึ่งได้เริ่มขยายให้ครอบคลุมหลัก 4 หลัก 5 และหลัก 8 โดยพื้นที่คลองดำเนินสะดวก มีความยาวกว่า 32.8 กิโลเมตร และมีคลองสาขาน้อยใหญ่มากกว่า 200 คลอง ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
นางสาววัชรี กล่าวอีกว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าในปีนี้จะเน้น 2 ส่วน คือ
1. การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระดับจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว หรือ Destination และมุ่งเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนตามหลักเกณฑ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับแหล่งท่องเที่ยว (Global Sustainable Tourism Criteria for Destination, GSTC-D) ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก เป็นแนวทางพื้นฐานในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนอย่างบูรณาการ
2. การพัฒนาคุ้งบางกะเจ้า พื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดีหลายประการ เช่น ภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าเห็นความสำคัญและเข้าใจการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามแนวทางของหลักเกณฑ์ GSTC-D เกิดการบูรณาการและกลไกในการขับเคลื่อนแผนและโครงการต่าง ๆ บริษัทนำเที่ยวและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวได้สินค้าการท่องเที่ยวใหม่ที่มีคุณภาพและตอบโจทย์กระแสแนวโน้มความต้องการทางการตลาดในปัจจุบันและอนาคต
โดยอาหารถิ่น และตำรับช่างคาว ช่างหวานคุ้งบางกะเจ้า เกิดการยกระดับเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวคุณภาพทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
สำหรับพื้นที่ คือ คลองดำเนินสะดวก การพัฒนาศักยภาพและยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบวิถีคลองเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่คลองดำเนินสะดวก และพื้นที่เชื่อมโยงลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง ให้เป็นไปตามเกณฑ์การท่องเที่ยวยั่งยืนโลก (GSTC) ชุมชนที่มีความเข้มแข็งและกลไกการบริหารจัดการที่ดีขึ้น รวมทั้งชุมชนพื้นที่หลัก 4 หลัก 5 และหลัก 8 ที่ขยายการทำงานสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เข้าใจในกระบวนการพัฒนาและเครื่องมื่อต่าง ๆ ในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของ อพท. เกิดชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน และนักสื่อความหมายที่ได้รับการพัฒนา สามารถสร้างประสบการณ์ทำให้นักท่องเที่ยวพึงพอใจและเกิดการเดินทางมาท่องเที่ยวซ้ำ
คลองดำเนินสะดวก