องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ชวนสัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่น ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม

1625732700
ขนาดตัวอักษร

          อพท. เดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวที่สะท้อนอัตลักษณ์ตัวตน สร้างประสบการณ์ใหม่ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ สัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่น ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง ผ่านการลงมือทำและมีส่วนร่วมกับชุมชน
 


กิจกรรมการเขียนตั๋วเมือง วัดหัวเวียงใต้ จ.น่าน


          นับเป็นเวลานานกว่า 9 ปี ที่ อพท. ทุ่มเทและมุ่งมั่นให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ที่ได้เน้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างคุณค่าและมูลค่า

          นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ อพท. จะเน้นการดึงคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่า (Value to Benefit) สร้างต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และพัฒนาให้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวที่สะท้อนอัตลักษณ์ตัวตน ออกแบบสร้างประสบการณ์ใหม่ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ สัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่น ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง ผ่านการลงมือทำและมีส่วนร่วมกับชุมชน ที่สำคัญจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักท่องเที่ยวและชุมชน นักท่องเที่ยวได้สร้างสรรค์ผลงานและเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ต่อไป
 


นางสาววัชรี ชูรักษา


          นอกจากนี้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ยังทำให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจและเห็นถึงคุณค่าในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ นักท่องเที่ยวก็ใช้เวลาในชุมชนนานขึ้น เข้าใจชุมชนมากขึ้น เห็นคุณค่าของชุมชน ใช้จ่ายในชุมชนมากขึ้น และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนมากขึ้น รวมถึงการถอดองค์ความรู้และขยายผลในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน สืบสานประเพณีและวัฒนธรรม สร้างงาน สร้างรายได้ และกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม

          อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะปัจจุบันปราชญ์หรือศิลปินท้องถิ่น (Local Artisan/ Local Artist) เหลืออยู่น้อยมาก ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ลูกหลาน เนื่องจากลูกหลานไปทำงานในเมืองใหญ่ และปราชญ์ศิลปินที่มีอยู่ก็มีแต่ผู้สูงอายุ ดังนั้น จึงควรรีบมีการรื้อฟื้นหรือค้นหาบุคคลเหล่านี้ แล้วนำกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เป็นตัวเชื่อม เพื่อจะทำให้ประเพณีและวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนไม่สูญหายไป

          ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่ปราชญ์มีหลงเหลืออยู่น้อย แต่ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ยังขาดแคลนนักสื่อความหมาย เนื่องจากเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะถ่ายทอดสู่นักท่องเที่ยว ถ้ามีคนเล่าเรื่องที่เข้าใจบริบทอย่างลึกซึ้ง สนุกสนาน ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจ อยากท่องเที่ยวในชุมชนมากขึ้น และอยากกลับมาเที่ยวอีก หรือบอกต่อ ในทางตรงกันข้าม หากคนเล่าเรื่องไม่เข้าใจบริบทมากพอก็จะทำให้นักท่องเที่ยวไม่กลับมาเที่ยวอีก

 


          นอกจากนี้ยังขาดตัวกลางในการเชื่อมตลาด เนื่องจากชุมชนยังขาดทักษะในเรื่องการประสาน การตลาดและประชาสัมพันธ์ จำเป็นจะต้องมีคนกลางมาเชื่อมต่อ (Missing Link) ไม่ว่าจะเป็น บริษัททัวร์ท้องถิ่น ที่พัก ร้านอาหาร เพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างชุมชนกับนักท่องเที่ยว ปัญหาสำคัญที่พบในชุมชนคือ การกำหนดราคาขายกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะการคิดต้นทุนของชุมชน บางทีก็คิดถูกหรือแพงเกินไป ทำให้ราคาขายไม่สะท้อนต้นทุน และทำให้ราคาขายไม่สามารถเชื่อมกับตลาดท่องเที่ยวได้

          นางสาววัชรี กล่าวอีกว่า อพท. จัดตั้งคณะทำงานท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism Brain Bank: CTBB) ประกอบด้วย นักคิด นักสร้างสรรค์ นักออกแบบ นักวิชาการ รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวระดับประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากแขนงต่าง ๆ มาดำเนินพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ร่วมกับ อพท. โดย อพท. จะผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้อยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชน และทำงานร่วมกับชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษ รวมทั้งเชื่อมโยงผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบการที่พัก นำกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ไปผนวกในเส้นทางท่องเที่ยว และนำเสนอกิจกรรม CT ผ่านผู้ที่เข้าพักในที่พักในแต่ละพื้นที่

          ทั้งนี้  อพท. จะสนับสนุนทุกภาคีในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการเผยแพร่องค์ความรู้ เครื่องมือการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น ภาคการศึกษา เครือข่ายชุมชนที่ต้องการพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์