องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ที่มาของการประกาศพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร

1664423100
ขนาดตัวอักษร

ที่มาของการประกาศพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร

1. นโยบายของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : ส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นที่สนใจ  โดยเน้นการสร้างองค์ความรู้และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

2. การฟื้นฟูบูรณะแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ทั้งสามแห่ง ได้แก่ การสำรวจขุดค้น การขุดแต่งบูรณะ การส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี การให้ความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมแก่ประชาชนภายใต้กรมศิลปากรเพียงหน่วยงานเดียวมีข้อจำกัด ซึ่งปัญหาสำคัญ ได้แก่ การจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีการทับซ้อนกันของพื้นที่ชุมชนบ้านเรือนของราษฎรกับอุทยานประวัติศาสตร์ การปรับปรุงพื้นที่ภายในเขตอุทยานฯ และภูมิทัศน์สภาพแวดล้อมโดยรอบ การขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้การพัฒนาเมืองและการอนุรักษ์โบราณสถานดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกันนั้น ไม่สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและคุณค่าอันล้ำเลิศ

3. การท่องเที่ยวของสุโขทัยและกำแพงเพชรได้รับความนิยมน้อย การพัฒนาการท่องเที่ยวของทั้ง 2 จังหวัดจึงไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร      ขาดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ต่อเนื่องในรอบปี ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวมีขีดความสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจด้อยกว่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น รายได้จากการท่องเที่ยวน้อย ขาดการส่งเสริมประชาสัมพันธ์และการตลาดในประเทศและต่างประเทศที่จะทำให้แหล่งท่องเที่ยวนี้สามารถสร้างคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม อันจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อชุมชนในท้องถิ่นของสองจังหวัดได้

 

 

แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ประกอบด้วย

1. การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดความสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยบูรณาการการบริหารจัดการของทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วม เน้นบริหารจัดการแหล่งมรดกโลก บูรณาการการใช้อำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน เพื่อกำหนดเป้าหมายหรือขั้นตอนของการขับเคลื่อนการพัฒนาให้สอดคล้องกัน จัดสรรงบประมาณให้แต่ละท้องถิ่นได้อย่างเพียงพอในการอนุรักษ์และพัฒนามรดกโลก เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกับภาครัฐ

2. ส่งเสริมการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทั้งภายในและภายนอกอุทยานประวัติศาสตร์ให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น และมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลายเพื่อสร้างความน่าสนใจและดึงดูดใจจากนักท่องเที่ยว การส่งเสริมคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตลอดจนการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์มรดกโลก

3. การบริหารจัดการพื้นที่ทั้งในเขตพื้นที่คุ้มครองโบราณสถานและเขตพื้นที่กันชนตามแนวทางของยูเนสโก ด้วย 4 มาตรการ ได้แก่               

                      1) การจัดการทรัพยากรและการปกป้องรักษา

                      2) การใช้ของมนุษย์ ซึ่งรวมการท่องเที่ยวอย่างสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์

                      3) การวิจัยและเฝ้าระวัง

                      4) การบริหารจัดการด้านการเงินและงบประมาณการศึกษา และการตลาด

4. ข้อเสนอแนะจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้แก่

                     1) การอนุรักษ์พื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

                     2) การพัฒนาเพื่อกระจายความเจริญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของท้องถิ่น

                     3) การส่งเสริมภาพลักษณ์และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของอุทยานประวัติศาสตร์ทั้งสามแห่ง

                     4) การสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดความรู้ เข้าใจ และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาจัดการโดยอยู่ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ได้อย่างเหมาะสม

 

หนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี เลขที่ นร ๐๔๐๕ (ลร.๓)/๓๖๐๓ วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๔