อพท.เชียงราย ร่วมประชุมหารือและรับฟังปัญหาความต้องการของผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย
อพท.เชียงราย ร่วมประชุมหารือและรับฟังปัญหาความต้องการของผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2567 นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี มอบหมายให้ อพท.เชียงราย ร่วมลงพื้นที่และประชุมหารือรับฟังความต้องการของผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และความช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐ ณ ห้องประชุมสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย โดยนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รับฟังปัญหาและความต้องการจากประธานสมาคมสหพันธ์การท่องเที่ยวภาคเหนือ ประธานชมรมโรงแรมจังหวัดเชียงราย ประธานชมรมร้านอาหารจังหวัดเชียงราย ผู้ประกอบการโรงแรม นายกสมาคมมัคคุเทศก์จังหวัดเชียงราย รวมทั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย
ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงรายฟื้นตัวค่อนข้างเร็วเนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย แต่ภาพข่าวที่เผยแพร่ออกไปส่งผลให้นักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่นในความปลอดภัย ประกอบกับมีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ บริษัทนำเที่ยวจึงยกเลิกนำนักท่องเที่ยวเข้ามาเนื่องจากบริษัทประกันภัยจะไม่จ่ายสินไหมทดแทนหากนักท่องเที่ยวได้รับอุบัติเหตุ ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงรายให้ฟื้นตัวทันต่อการับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูการท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง เพื่อชดเชยรายได้ที่สูญหายไปในช่วงเกิดสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งแม้สถานประกอบการจะไม่ถูกน้ำท่วมแต่ก็ไม่สามารถให้บริการได้เนื่องจากไม่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าใช้และน้ำประปา โดยมีข้อเสนอให้ภาครัฐดำเนินการ เช่น การจัด Direct Flight จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ มายังท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และเชื่อมโยงการเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวงกับท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ให้สะดวกรวดเร็ว แทนการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เคยประสบความสำเร็จ เช่นงานวิจิตร 5 ภาค นำ มิชลิน ไกด์ เข้ามาในจังหวัดเชียงราย การจัดประชุมสัมมนานานาชาติ การแข่งขันกีฬาที่มีผู้นิยมติดตามชมทั่วโลก งาน Event ระดับชาติ ต้องให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเจ้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนรถขนส่งสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังเสนอให้ปรับปรุงประสิทธิภาพการเตือนภัยล่วงหน้า การสื่อสารที่ชัดเจนเพื่อให้รู้ว่ากำลังจะเกิดอะไรและต้องทำอย่างไร และการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ช่วยดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ จังหวัดเชียงรายและทุกภาคส่วนเร่งดำเนินการทำความสะอาดเมืองเพื่อให้พร้อมรับรองนักท่องเที่ยวให้ได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แจ้งให้ผู้ประกอบการทราบว่า มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำ Campaign เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภาคเหนือทั้งหมด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมามากที่สุด เช่น ไทยเที่ยวไทยคนละครึ่ง โดยใช้งบประมาณของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และให้แนวทางการฟื้นฟูการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย โดยนำเสนอข่าว ให้เป็นไปในเชิงบวก ไม่สร้างความหวั่นวิตกให้แก่นักท่องเที่ยว การจัด Event ต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสมและเข้ากับบริบทของพื้นที่เชียงราย ใช้มาตรการยกเว้นภาษี ลดหย่อนภาษี หรือขยายเวลาในการชำระภาษี ดึงบริษัทสร้างภาพยนตร์ มาถ่ายทำในจังหวัดเชียงราย เนื่องจากมีความสวยงามทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรม หากลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น ผู้ปกครองของนักเรียนนานาชาติ ที่มักจะพาลูกหลานไปเที่ยวต่างประเทศช่วงปิดภาคเรียน เพราะอาจไม่รู้ว่าจังหวัดเชียงรายมีแหล่งท่องเที่ยวที่ดีไม่แพ้ต่างประเทศ งบประมาณจัดงาน Event ที่จัดเป็นประจำและประสบความสำเร็จแล้ว ให้ตั้งเป็นงบประจำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรช่วยจะนำเสนอกับกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ
ภายหลังเสร็จการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำคณะผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในเขตอำเภอเมืองเชียงราย ได้แก่ วัดร่องเสือเต้น ปางช้างกระเหรี่ยงรวมมิตร และน้ำพุร้อนโป่งพระบาท เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ประกอบการและคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว และสั่งการให้กรมการท่องเที่ยวพิจารณาให้ความช่วยเหลือซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหายหรือจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกทดแทนของเดิมที่ใช้การไม่ได้โดยเร็วฃ