องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ที่ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร ท่องเที่ยวชุมชน วิถีไทย วิถียอง บ้านสันทางหลวง

1727015400
ขนาดตัวอักษร

ที่ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร ท่องเที่ยวชุมชน วิถีไทย วิถียอง บ้านสันทางหลวง

จากชุมชนเกษตรกรสู่ผืนผ้าปักที่ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร ที่หล่อเลี้ยงวิถีชุมชนสู่อยู่ดีมีสุข ชุมชนบ้านสันทางหลวง ตำบลจันจว้าใต้ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องประเพณี วัฒนธรรม การแต่งกาย และภาษา ในแบบฉบับวิถีไทยองล้านนา ที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ดึงดูด มัดใจผู้มาเยือนชุมชนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

 
ชุมชนบ้านสันทางหลวงเป็นชุมชนชาติพันธุ์ไทยอง ซึ่งแต่เดิมนั้นมีถิ่นฐานอยู่ในเมืองยอง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงตุง ประเทศพม่า เป็นเมืองที่มีชื่อเดียวกับแม่น้ำ คือ แม่น้ำยอง อยู่ใกล้แม่น้ำโขง ในอดีตเมืองยองมีชื่อว่า มหิยังคนะ  และเรียกตัวเองว่าชาวไตเมืองยอง เมื่อพม่าเสื่อมอำนาจลงทำให้มีการอพยพชาวยองมาสู่ตัวเมืองลำพูน และรวมตัวกันเพื่อกลับถิ่นฐานเดิม เมื่อเดินทางมาถึงพื้นที่ตรงนี้ในปัจจุบันได้เล็งเห็นว่ามีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกทำให้ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานกันใหม่ที่นี่ จึงถือเป็นจุดกำเนิดของบ้านสันทางหลวงนั่นเอง 
 
แม้เวลาจะล่วงเลยมานานมากแล้ว บ้านสันทางหลวงยังคงวิถีชีวิตของคนยองอยู่ และได้สืบสานประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ เอาไว้ โดยเฉพาะการแต่งกายแบบคนยอง ที่จะใช้ผ้าโพกหัวอันเป็นเอกลักษณ์ หรือจะเป็นการฟ้อนสไตล์ยอง ภาษายอง รวมไปถึงอาหารการกินต่างๆ ด้วย 

   

จุดเริ่มต้นของการปักผ้าบ้านสันทางหลวง เกิดจากชาวบ้านที่ชุมชนบ้านสันทางหลวงแห่งนี้มีรายได้หลักจากการเป็นเกษตรกร ทำไร่ทำนา เมื่อหมดฤดูกาลทำนา ชาวบ้านไม่มีรายได้ใช้ช่วงเวลานั้น จนได้มาพบกับ “ป้านิ” นิธี สุธรรมรักษ์ ประธานกลุ่มอาชีพผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง อำเภอแม่จัน บ้านใกล้เรืองเคียง ซึ่งเป็นผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานจากผ้าปักด้วยมือบ้านสันกอง ได้รับการคัดเลือกเป็นสินค้า "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)” ในระดับประเทศ ประเภทของใช้และของประดับตกแต่ง ในปี พ.ศ.2542 เข้ามาสอนชาวบ้านปักผ้าด้วยมือ เพื่อเป็นอาชีพเสริม ที่ในขณะนั้นก็มีต้องแต่วัยทำงานจนถึงวัยผู้สูงอายุให้ใช้เวลาที่ว่างจากการทำนาและแปลงเกษตร เมื่อชาวบ้านเริ่มปักมือบนผ้าในลวดลายต่างๆ บนผืนผ้าสีเหลี่ยมเล็กๆ สามารถนำไปขายได้บ้างแล้ว ต่อมาก็มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาให้องค์ความรู้ในเรื่องการพัฒนาฝีมือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ความหลากหลาย ชุมชนบ้านสันทางหลวงจึงได้จัดตั้งกลุ่มผ้าปัก เป็นการรวมกลุ่มของคนในชุมชนที่ปักผ้า เพื่อให้เกิดการต่อยอดและการกระจายรายได้สู่ชุมชนจริงๆ 

 

ลวดลายผ้าปักของชุมชนบ้านสันทางหลวง ส่วนใหญ่จะเป็นลวดลายที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนบ้านสันทางหลวง อาทิ ลวดลายทุ่งนา นาข้าว รวงข่าว ก้นหอย ทุ่งนา ดอกไม้ใบหญ้าที่งดงามที่เกิดขึ้นบริเวณชุมชนก็จะนำมาปักเป็นสิ่งนั้น หรือตามจินตนาการของเจ้าของผ้าปักผืนนั้น ใช้สีสันจากเส้นด้ายในการเพิ่มความน่าสนใจและความสวยงามมากยิ่งขึ้น 

นอกจากกลุ่มทอผ้าที่มีการรวมกลุ่มของสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่มีผู้สูงอายุ ที่เว้นว่างจากการทำนา ก็จะมานั่งร่วมกลุ่มกันปักผ้า เกิดการพูดคุย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จึงทำให้ผู้สูงอายุไม่เหงา และมีความสุข จนนำไปสู่กิจกรรมการท่องเที่ยวที่ให้นักท่องเที่ยวลงมือทำได้ด้วย ปัจจุบันมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ อาทิ กระเป๋าย่าม รองเท้า ซองใส่มือถือ และอื่นๆ อีกมากมาย

ชุมชนบ้านสันทางหลวง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ "วิถีชาวไทยอง" เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีประวัติเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีคนยอง ทำให้ถูกคัดเลือกเป็น "หมู่บ้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์" จากกระทรวงวัฒนธรรม และปัจจุบันได้รับการส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกับวิถีชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการการท่องเที่ยวเอง 

มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่น อาทิ กิจกรรมปักผ้าชาวยอง ผ้าทอมือ ย่ำเกลือแช่เท้าสมุนไพร หมอนชาดูดกลิ่น ซึ่งกลุ่มได้นำกิจกรรมของกลุ่มอาชีพ พัฒนาเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวของกลุ่มได้อย่างน่าสนใจ การเดินทางจากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย ระยะทาง 42 KM. ใช้เวลาประมาณ 46 นาที การบริหารจัดการของกลุ่มของชุมชนในรูปแบบ “วิสาหกิจชุมชนวิถีไทย วิถียอง สันทางหลวง” มีทั้งผู้สูงอายุ และเยาวชน คนรุ่นใหม่ และคนในชุมชนเข้ามาส่วนร่วม กระจายรายได้สู่ชุมชน


กิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน วันนี้นำเสนอเส้นทางจักรยาน เส้นทางท่องเที่ยวครึ่งวัน แบบลองเป็นชาวไทยอง 1 วัน

กิจกรรมเรียนรู้ปักผ้า และลงมือทำ เป็นลวดลายดอก สีสันสวยงาม อาทิ ลายดอกไม้ ลายใบไม้ ลายเมล็ดข้าว และลายอื่นๆตามจินตนาการของผู้ปัก นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปเป็นกระเป๋าทั้งขนาดเล็ก ใหญ่ ผ้าพันคอ กระเป๋า ผืนผ้าประดับตกแต่ง พัฒนาเป็นชุดทดลองปักที่สามารถนำไปปักที่บ้านได้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังชุมชนสามารถลงมือทำกิจกรรมปักผ้าที่มีชิ้นเดียวในโลกและเป็นผลงานจากจินตนาการและแรงบันดาลใจของนักท่องเที่ยวเอง


กิจกรรมทำหมอนใบชาดูดกลิ่น ใช้ใบชาจากเครือข่ายชุมชนในจังหวัดเชียงราย ถุงสำหรับใส่ใบชาที่มีลวดลายปักสวยงามในรูปแบบของบ้านสันทางหลวง นักท่องเที่ยวจะลงมือนำใบชาใส่ถุงชาที่เตรียมไว้และเย็บถุงชาด้วยตนเอง พร้อมนำกลับบ้านไปเป็นของที่ระลึกได้

ผ่อนคลายด้วยกิจกรรมย่ำเกลือแช่เท้าสมุนไพร นำภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ได้รับการสืบทอดกันมาช้านาน เช่น การย่ำเกลือ หรือการแช่เท้าด้วยเกลือและสมุนไพรท้องถิ่น นำกลับมาถ่ายทอดเป็นความรู้และบริการแก่นักท่องเที่ยว โดยสมุนไพรที่ชุมชนนำมาใช้ในการแช่เท้า เช่น หญ้าเอ็นยืด และจิงจูฉ่าย จะช่วยให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทำกิจกรรมได้ผ่อนคลาย

เรียนรู้การทอผ้าของชาวไทยอง ที่มีการทอทั้งผ้าถุง ผ้าขาวม้า ผ้าผืน ผ้าคลุมไหล่ โดยมีลวดลายทั่วไป นักท่องเที่ยวสามารถชมการทอผ้าและลงมือทำและเรียนรู้เทคนิคการทอผ้าได้

เรียนรู้เกษตรปลอดภัย ที่ส่งขายให้กับเครงการหลวง และรับประทานอาหารปลอดภัย

ผลิตภัณฑ์ชุมชนและซื้อของฝากของที่ระลึก

ชุมชนบ้านสันทางหลวง (วิสาหกิจชุมชนวิถีไทย วิถียอง สันทางหลวง)
ตำบลจันจว้าใต้ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
ติดต่อสอบถาม     นางสังเวียน ปรารมภ์
โทรศัพท์            08 6992 5679
E-mail              juntapingyong@gmail.com
Facebook         วิถีไทย วิถียอง บ้านสันทางหลวง