องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ผ้าทอเมืองน่านสู่แบรนด์น่านเน้อเจ้า ความลงตัวระหว่างศิลปะและธรรมชาติ

1625974920
ขนาดตัวอักษร

          สืบสานและเรียนรู้กว่าจะเป็นลวดลายผ้าทอพื้นบ้านเมืองน่าน สู่แบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” ผลิตภัณฑ์ของดีประจำจังหวัดน่าน สะท้อนเอกลักษณ์และศิลปะชิ้นเอก ถักทอร้อยเรียงจากภูมิปัญญาไว้อย่างน่าสนใจ
 


          เมื่อนึกถึงจังหวัดน่าน บ่อยครั้งที่กลิ่นอายความอบอุ่นแห่งเมืองเหนือ ใบหน้าเปื้อนยิ้มของผู้คน อาหารอร่อย มักจะเป็นภาพนึกคิดที่ติดอยู่ในความทรงจำเสมอ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ห์ชูโรงสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ไม่เพียงเท่านั้น น่านยังเป็นแหล่งสร้างสรรค์ผ้าทอพื้นเมืองลวดลายเฉพาะ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองน่าน ภายใต้แบรนด์ "น่านเน้อเจ้า" เพื่อต่อยอดภูมิปัญญา สะท้อนเอกลักษณ์ พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างพลังและการจดจำในผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกให้กับสินค้าพื้นเมืองด้วย
 


"น่านเน้อเจ้า" เล่าขานผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือพื้นเมืองของสตรีน่าน

          หากจะเอ่ยถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกประวัติความเป็นมาและตัวตนของเมืองน่าน "ผ้าทอ" น่าจะทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยเพราะเสน่ห์แห่งสีสัน เส้นลาย และลวดลายบนผ้าที่ไม่เหมือนใคร ดึงดูดสายตาให้จับจ้อง มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญานี้ สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน และมีส่วนทำให้การทอผ้า กลายเป็นอีกหนึ่งตัวแทนสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดน่านมาถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับแบรนด์ "น่านเน้อเจ้า" ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม โดย อพท. สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน เข้ามาเชื่อมการทำงานระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการ ให้มีช่องทางการตลาด ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองน่าน อันประกอบด้วยอำเภอเมืองน่าน ได้แก่         

          - กลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำ ตำบลในเวียง
          - กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ตำบลบ่อสวก
          - กลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา ตำบลนาซาว
          - กลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย ตำบลดู่ใต้
          - กลุ่มทอผ้าบ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง
 


          ถึงแม้ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มทอผ้าจากพื้นที่หลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่ยึดโยงผู้คนเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน นั่นคือ ต้นทุนที่มีใจรักในการทอผ้า โดยแต่ละกลุ่มล้วนมีเอกลักษณ์การทอแบบเฉพาะตัว ผสมผสานกับการออกแบบลวดลายใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าทอ เกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์สร้างชื่อเสียงผ้าทอเมืองน่านให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ตลอดจนยังเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเดินทางตามรอยการสร้างแบรนด์น่านเน่อเจ้า เข้ามาเรียนรู้วิธีการทอผ้าแบบสตรีพื้นเมืองชาวน่านกันที่โรงทอผ้าจริง ตาได้เห็น มือได้จับ ก็พาให้หัวใจเปิดรับ สมองทำการเรียนรู้ ตั้งแต่กรรมวิธีแรกเริ่ม ตั้งแต่รีดเมล็ด ปั้นด้าย ดึงเป็นเส้น ฟั่นด้าย ก่อนที่จะนำไปสู่การย้อมสีธรรมชาติ นำไปขึ้นกี่สำหรับทอ พร้อมกันนั้นก็ออกแบบลวดลายและสีสันตามแต่ละชุมชน

          การได้พบปะพูดคุยถึงความเป็นมา ยิ่งพาใจให้ตื่นเต้นกับวิธีการสาธิตจากผู้ชำนาญการ และมือไม้กำลังพัลวันกับการคุมบังเหียนกี่ทอผ้า ทุกครั้งที่เส้นสายผ้าถูกกระตุก ทำให้เรารู้เลยว่ากว่าจะมาเป็นผ้าแต่ละผืน ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ บางผืนใช้เวลาเป็นอาทิตย์ บางผืนใช้เวลาร่วมเดือน และด้วยอัตลักษณ์อันโดดเด่น ทว่าแฝงไว้ซึ่งความงดงาม จึงทำให้แบรนด์น่านเน้อเจ้าได้รับรางวัล PATA Gold Awards 2020 ประเภทรางวัล Women Empowerment Initiative จากสมาคมการท่องเที่ยวแห่งเอเชียแปซิฟิก อย่างภาคภูมิใจ
 


หลายลวดลาย หลากเรื่องเล่า ของแบรนด์ "น่านเน้อเจ้า"

          เมื่อลวดลายบนผืนผ้าแต่ละชุมชนแตกต่างกัน ดังนั้นผืนผ้าจึงมิใช่เป็นเพียงแค่เครื่องอาภรณ์ หากยังเป็นสิ่งสะท้อนผลงานของศิลปะแห่งชีวิต ไม่ว่าจะเป็น

          - ผ้าทอลายน้ำไหลหยดน้ำ ณ โฮงเจ้าฟองคำ พิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้การทอผ้าซิ่นลายน้ำไหล โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอโฮงเจ้าฟองคำ ได้มีการประยุกต์ลาย "ผ้าลายน้ำไหล" แบบดั้งเดิมมาเป็น "ผ้าลายน้ำไหลหยดน้ำ" ซึ่งปัจจุบันมีการคิดพลิกแพลงลวดลายต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย และได้ขยายพื้นที่การทอผ้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการพลิกฟื้นลายซิ่นโบราณให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยผ้าทอลายน้ำไหลหยดน้ำเป็นลายโบราณ ผู้ทอจะต้องใช้ความอดทนค่อนข้างสูง เพราะทุกขั้นตอนใช้เวลาและความประณีตมาก เริ่มตั้งแต่นำฝ้ายลงไปแช่ในน้ำข้าวให้อ่อน ตากแดดให้แห้ง เสร็จแล้วมากรอเข้าหลอด จากนั้นนำไปเดินด้าย เสร็จจากเดินด้ายก็สอดฟันหวี เพื่อเรียงเส้นด้ายให้เป็นแนว แล้วค่อยนำเอามาใส่กี่ ถักทอออกมาเป็นผืนผ้าอย่างที่เราเห็น
 


          - ผ้าลายบ่อสวก ชุมชนบ่อสวก ชุมชนแหล่งโบราณคดีของล้านนาอายุราว 700-800 ปี ที่ยังคงเต็มไปด้วยวิถีชีวิตหลากหลายเรื่องราว ทั้งกลุ่มเครื่องปั้นดินเผา กลุ่มจักสาน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ แม้กระทั่งกลุ่มผ้าทอ ซึ่งชุมชนยังคงอนุรักษ์หวงแหนภูมิปัญญาที่ก่อเกิดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว โดยกลุ่มวิสาหกิจทอผ้าบ้านซาวหลวง เป็นแหล่งผ้าทอพื้นเมืองที่มีชื่อเสียง มีลวดลายผ้าทออันเป็นเอกลักษณ์ นั่นคือ ลายบ่อสวก ได้รับแรงบันดาลใจจากลายเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ลงมาสู่ลวดลายบนผืนผ้า จากเดิมนิยมนำมาทอเป็นผ้าถุง ผ้าขาวม้า ปัจจุบันแปรรูปเป็นเสื้อผ้าให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

 


          - ผ้าลายตาโก้ง ณ กลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย ตำบลดู่ใต้ มีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับผ้าซิ่น "ลายตาโก้ง" ซึ่งเป็นลายผ้าที่มีมานานหลายร้อยปี เดิมเป็นลายผ้าขาวม้าและผ้าห่ม ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อนุ่งห่มแล้วจะคุ้มครองให้พ้นอันตราย จนต่อมาได้มีการพัฒนาการทอผ้าด้วยการเพิ่มเส้นยืนเป็น 3 เส้น ทำให้สีไม่ตก มีเนื้อผ้าที่แน่นขึ้น สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยยังคงโทนเอกลักษณ์อย่างสีดำ แดง และขาว

 


          กว่าจะมาเป็นแบรนด์น่านเน้อเจ้า ไม่ได้ถักทอกันง่าย ๆ เพราะที่สุดแล้วองค์ประกอบสำคัญไม่แพ้ฝีมือชำนาญการ นั่นต้องเป็นคนที่มีใจรัก ความชำนาญ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อก่อเกิดเป็นผ้าทอตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมแห่งเมืองน่าน หากใครมีโอกาส ลองมาเปิดประสบการณ์เที่ยวแบบนี้สักครั้ง แล้วจะไม่ผิดหวังแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ pr.prd.go.th
เฟซบุ๊ก น่าน เน้อเจ้า