องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ย้อนรอยความสำเร็จ "น่านเน้อเจ้า"

1625805720
ขนาดตัวอักษร

          อพท. ชูผ้าทอพื้นเมืองน่าน แบรนด์ "น่านเน้อเจ้า" ต่อยอดภูมิปัญญา สะท้อนอัตลักษณ์ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน



          แบรนด์ "น่านเน้อเจ้า" เป็นแบรนด์ผ้าทอพื้นเมืองที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เพราะผ้าทอพื้นเมืองน่าน มี "ลาย" เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีเรื่องเล่า มีคุณค่า ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและยอมรับในคุณภาพของผ้าทอ

          แบรนด์ "น่านเน้อเจ้า" เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มสตรีแม่บ้านที่มีใจรักการทอผ้า 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำ ตำบลในเวียง กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ตำบลบ่อสวก กลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา ตำบลบ่อสวก และกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย ตำบลดู่ใต้ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีเอกลักษณ์การทอผ้าเป็นลายซิ่นเฉพาะตัวที่เป็นลายดั้งเดิม และมีการออกแบบลวดลายใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าผ้าทอทั้งในด้านคุณค่าและการต่อยอดภูมิปัญญา เกิดจากการสร้างสรรค์สืบสานทางวัฒนธรรมเมืองน่าน

          นายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า แบรนด์ "น่านเน้อเจ้า" เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มสตรีแม่บ้านทั้ง 4 กลุ่ม ที่ต้องการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยนำองค์ความรู้ ความสามารถ ความถนัดที่มี มาพัฒนาต่อยอด จึงนำความเชี่ยวชาญเรื่องทอผ้ามาพัฒนาให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ ด้วยการพัฒนาผ้าทอพื้นเมืองน่าน แบรนด์ "น่านเน้อเจ้า" ซึ่งเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้าน รักษาเอกลักษณ์ รวมถึงพัฒนาโรงทอผ้า เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การทอผ้า และเป็นหนึ่งในกิจกรรมท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวชุมชน

 


นายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์


          "การเรียนรู้การทอผ้าจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการปั่นด้ายจากดอกฝ้าย ที่มีกรรมวิธีรีดเมล็ด ปั้นด้าย ดึงเป็นเส้น ฟั่นด้าย และนำไปย้อมสีธรรมชาติ เพื่อนำไปขึ้นกี่สำหรับทอเป็นผ้าผืน โดยออกแบบลวดลาย สีสันตามแนวทางของแต่ละชุมชน ซึ่งมีพื้นฐานจากลายต่าง ๆ ทั้งลายม่าน ลายป่อง ลายเชียงแสน ลายน้ำไหล รวมถึงลายดอกจันทร์แปดกลีบ สะท้อนถึงความเชื่อของคนในพื้นถิ่น โดยมีการนำดอกไม้มาพัฒนาเป็นลายผ้า มีกลีบดอก 8 ทิศ เป็นความเชื่อป้องกันภัยทั้ง 8 ทิศ"

          ผ้าทอมือพื้นเมืองน่าน สะท้อนอัตลักษณ์และเป็นศิลปะชิ้นเอกที่ศิลปินเมืองน่านได้บันทึกมุมมองประวัติศาสตร์เมืองที่มีอายุกว่า 700 ปี ผ่านลวดลายบนผืนผ้าที่โดดเด่นทั้งเรื่องของการรวมกลุ่มของแม่บ้านที่สรรค์สร้างจนเกิดเป็นอาชีพ สร้างรายได้ ที่สำคัญเพื่อส่งต่อคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมให้คนรักผ้าได้ศึกษาเรียนรู้ นั่นจึงเป็นที่มาของแนวความคิดการส่งแบรนด์ "น่านเน้อเจ้า" ที่ขับเคลื่อนโดยพลังของผู้หญิง เข้าชิงรางวัลจากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (PATA) จนได้รับรางวัลจาก PATA Gold Awards 2020 ประเภทรางวัล Women Empowerment Initiative รางวัลดังกล่าวไม่เพียงแค่สะท้อนความสำเร็จของกลุ่มแม่บ้านเท่านั้น แต่ยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดน่านอย่างมากอีกด้วย ซึ่งความสำเร็จนี้ถือเป็นบันไดขั้นแรกที่กลุ่มแม่บ้าน จะพัฒนาตัวเองต่อไป เพื่อให้ได้รับการยอมรับในวงกว้างขึ้น
 


          อาจารย์ภัทราภรณ์ ปราบริปู ทายาทเจ้าฟองคำ ในฐานะผู้ดูแลโฮงเจ้าฟองคำ กล่าวว่า โฮงเจ้าฟองคำ เป็นวิสาหกิจชุมชน ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นโรงทอผ้าซิ่นที่นำช่างฝีมือเข้ามาร่วมกลุ่ม เพื่อทอผ้าและจัดกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว เรียนรู้การทอผ้า ด้วยความพร้อมของสถานที่ที่เคยเป็นคุ้มเก่าของต้นตระกูลเจ้าฟองคำ ที่ในอดีตสืบเชื้อสายมาจากเจ้าครองนครน่าน ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวและฟื้นฟูศิลปะการทอผ้าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตเพื่อเล่าเรื่องราวในอดีต

          โดยเฉพาะเอกลักษณ์ผ้าทอ ลาย "น้ำไหลหยดน้ำ" ที่พัฒนาขึ้นจากลายน้ำไหลโบราณ ซึ่งเป็นลายพื้นฐาน ใช้ระยะเวลาในการทอนานถึง 22 วัน ขณะเดียวกันยังผลิตลายผ้าซิ่นอื่น ๆ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ "น่านเน้อเจ้า" และถ่ายทอดสู่นักท่องเที่ยวที่เข้าเยี่ยมชม รวมถึงประวัติความเป็นมาของเจ้าของคุ้มในอดีต
 


 

          ขณะที่ นางวัลภา อินผ่อง รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านซาวหลวง กล่าวว่า บ้านซาวหลวง เป็นการรวมกลุ่มสตรีในหมู่บ้านซาวหลวง ซึ่งได้มีการคิดค้นลายผ้าซิ่นบ่อสวก เป็นลายที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชุมชนแห่งนี้ที่ออกแบบมาจากเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดได้จากเตาเผาบ่อสวกที่พบลวดลายบนภาชนะปากโอ่ง จึงได้แกะลายเพื่อมาทำเป็นลายผ้าทอ ที่เรียกว่า "ลายน้ำไหลบ่อสวก" อีกทั้งยังได้มีการผลิตผ้าซิ่นลายอื่น ๆ นำมาออกแบบรวมกันเป็นลายผ้าซิ่นชนิดใหม่ ๆ แบ่งเป็น 2 แบบ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ลายไม่ซับซ้อน ส่วนลายที่ออกงานพิธี และวิถีชาวพุทธ ลายผ้าซิ่นจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ขึ้นอยู่กับฐานะของบุคคล โดยเฉพาะการสอดดิ้นเงินและทองที่จะสะท้อนถึงฐานะ ซึ่งส่วนใหญ่ผ้าซิ่นมีการออกแบบเปรียบเหมือนคน 1 คน ที่มีองค์ประกอบเป็น 3 ส่วน คือ หัวผ้าซิ่น ตัวผ้าซิ่น และตีนผ้าซิ่น

          ด้าน นางสาวพวงทอง สุทธิจินดา เลขาฝ่ายขายกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย กล่าวว่า เป็นแหล่งผลิตผ้าซิ่น "ลายตาโก้ง" เดิมเป็นลายผ้าขาวม้าและผ้าห่ม สะท้อนถึงความเชื่อในการคุ้มครองและพ้นภัยจากอันตรายทั้งปวง ต่อมาได้เพิ่มเส้นยืนเป็น 3 เส้น ทำให้สีไม่ตก มีเนื้อผ้าที่แน่นขึ้น สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตามสมัยนิยม โดย อพท. เห็นถึงความโดดเด่นของลายตาโก้ง จึงได้ร่วมกับชุมชนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ อาทิ ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน พวงกุญแจ ผ้าหุ้มโซฟาโรงแรม และกระเป๋าเศษสตางค์

 


          สุดท้ายแล้วก้าวต่อไปของแบรนด์ "น่านเน้อเจ้า" ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองน่านที่ถูกพัฒนาขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมที่จะอวดสู่สายตาชาวโลกได้อย่างภาคภูมิใจ