สำรวจความพร้อม "อันดามันและหมู่เกาะทะเลใต้"
ความงดงามของอันดามัน และหมู่เกาะทะเลใต้ น่าจะเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เข้าไปท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อย แต่จะทำอย่างไรให้ชุมชนเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยที่ยังสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่ทรัพยากรธรรมชาติไม่ถูกทำลาย ยังคงสวยงามเช่นเดิม
ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองทะเล จ.กระบี่
นั่นคือความท้าทายที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ต้องบริหารจัดการให้ประสบความสำเร็จและไปสู่เป้าหมาย เพราะถ้าขาดการบริหารจัดการที่ดีอาจจะส่งผลกระทบด้านลบต่อชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ อพท. เปิดเผยว่า ในพื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามันและหมู่เกาะทะเลใต้ 5 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต กระบี่ พังงา สตูล และตรัง ซึ่ง อพท. เข้าไปดูแลในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยว ประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน โดยคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติได้เห็นชอบให้ใช้แผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน (CBT Thailand) ที่ อพท. ได้จัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์
โดย อพท. ร่วมกับท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่เก็บและสำรวจข้อมูล และได้พัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยใช้เกณฑ์การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน 5 ด้าน 100 ข้อ เป็นเครื่องมือในการประเมินมาตรฐาน ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าว อพท. พัฒนาต่อยอดขึ้นมาจากเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
เกณฑ์ 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ด้านการจัดการเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตที่ดี ด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรม ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน และด้านบริการและความปลอดภัย
ด้าน นายไมตรี พุทธวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ อพท. 9 กล่าวว่า อพท.9 ดูแลรับผิดชอบพื้นที่อันดามันและหมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งการดำเนินงานในช่วงแรกจะเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชุมชนในทุกพื้นที่ เพื่อให้เห็นแนวทางการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา สร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีความเชี่ยวชาญ ความสามารถ และมีขอบข่ายในการทำงานแตกต่างกัน ดังนั้น การดำเนินงานร่วมกันจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติ
ทั้งนี้ การให้ความรู้เพื่อให้ชุมชนเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวนั้น การดำเนินงานจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ โดยที่ไม่สร้างผลกระทบด้านลบ หรือสร้างความเสียหายให้กับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องไม่ถูกทำลาย ด้วยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชน และสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังให้ชุมชนอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการพัฒนาในพื้นที่อันดามันนั้น เพราะยังไม่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ ดังนั้น ขอบข่ายการทำงานของ อพท. จะทำได้แค่ศึกษาถึงศักยภาพของพื้นที่ และทำรายงานเพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปดำเนินงาน แต่ถ้าในอนาคตสามารถประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ อพท. จะสามารถดำเนินการในพื้นที่ตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ เพราะอยู่ใกล้กับพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่สามารถทำงานเชื่อมโยงกัน คาดว่าจะสามารถประกาศเป็นพื้นที่พิเศษได้ภายในปลายปีนี้
นายไมตรี กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ศึกษาในพื้นที่อันดามันและหมู่เกาะทะเลใต้ทั้ง 5 จังหวัด พบว่ามีความพร้อมทั้งสินค้าและบริการที่จะนำเสนอต่อนักท่องเที่ยว ซึ่งการนำเสนอเราไม่ได้ยึดหลักการสร้างผลกำไรสูงสุด แต่ต้องการหาสมดุลของการพัฒนา โดยใช้กลไกของ GSTC มาเป็นเครื่องมือ เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ตอบรับกับความยั่งยืน สร้างคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยว โดยชุมชนยังคงวิถีชีวิตเช่นเดิม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม จะไม่ถูกทำลาย ขณะที่ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว