เที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ "กันตัง ตรัง"
เพราะจังหวัดตรังเป็นเมืองเก่าที่เคยเป็นเมืองท่าของโปรตุเกส ที่มีเรื่องเล่าสืบทอดกันมา ทำให้เกิดสถาปัตยกรรมในแบบชิโน-โปรตุกีส ที่เรียงรายอยู่ริมถนน รูปแบบอาคารบ้านเรือนคล้าย ๆ กับตึกชิโน-โปรตุกีสในภูเก็ต ซึ่งโครงสร้างอาคารเป็นแบบโปรตุเกส ที่ผสมผสานศิลปะปูนปั้นแบบจีน รวมถึงตกแต่งภายในแบบจีน ส่วนใหญ่อาคารเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ถือเป็นมรดกงานศิลปสถาปัตยกรรมของเมืองตรัง
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า จังหวัดตรังไม่เพียงเป็นเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ แต่จังหวัดตรังยังมีเรื่องราวหลายอย่างที่น่าสนใจ และพร้อมที่จะหยิบยกขึ้นมาเป็นจุดขาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าไปค้นหาและท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นที่มาที่ อพท. มีแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวที่นี่ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) บนวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นต้นทุนการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง ภายใต้แนวคิด "การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน"
ด้าน นายไมตรี พุทธวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ อพท. 9 กล่าวว่า ความน่าสนใจของจังหวัดตรัง คือ ด้านเกษตรกรรม ด้วยเป็นพื้นที่แห่งแรกที่ปลูกต้นยางพารา ก่อนที่จะขยายพื้นที่ปลูกครอบคลุม 14 จังหวัดทางภาคใต้ เริ่มตั้งแต่จังหวัดชุมพร ต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่ชายแดนติดประเทศมาเลเซีย และขยายพื้นที่ปลูกยางพาราไปยังภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ จนทำให้ประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ โดยผู้ที่นำยางต้นแรกมาปลูก คือ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)
ตามด้วยจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นเมืองแห่งอาหาร รสชาติอาหารเป็นที่ถูกปากถูกใจนักท่องเที่ยว อาหารมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อีกทั้งคนตรังยังชอบทำอาหาร จนได้รับการขนานนามว่า "ตรัง เมืองคนช่างกิน" อาหารขึ้นชื่อที่นักท่องเที่ยวไปแล้วต้องลิ้มลอง ได้แก่ หมูย่างตรัง เคาหยกหรือเกาหยก หมี่หน่ำเหลี่ยว บักกุ๊ดเต๋ ขนมเปี๊ยะ โรตี ขนมเต้าซ้อ และติ่มซำ
หากต้องการความเป็นธรรมชาติ จังหวัดตรังยังมีธรรมชาติที่งดงาม ทั้งทะเล และบ่อน้ำร้อน ท้องทะเลที่สวยงามยังไม่ถูกทำลายไปมากนัก เห็นได้จากทะเลตรังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีพะยูนอาศัยอยู่จำนวนมาก รวมถึงเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุด สาหร่ายและปะการังน้ำตื้นที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารที่ดี มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพากัน
ส่วน "บ่อน้ำร้อนกันตัง" เป็นบ่อน้ำร้อนน้ำเค็มที่แตกต่างจากที่อื่นในหลายจังหวัดที่อยู่ใกล้กันในภาคใต้ ซึ่งบ่อน้ำร้อนจะมีอุณหภูมิที่ต่างกัน อุณหภูมิของน้ำเฉลี่ยที่ 20-70 องศาเซลเซียล มีค่ากำมะถันต่างกัน ที่บ่อน้ำร้อนกันตัง มีส่วนผสมของกำมะถันน้อย ไม่ถึง 1% แทบจะไม่มีกลิ่นเลย แต่มีแคลเซียมมากถึง 75% เป็นเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย ทำให้เหมาะสำหรับการนำไปบำบัดผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคเหน็บชา ปวดเมื่อย มือเท้าชา และโรคเส้นเลือดขอด เนื่องจากแคลเซียมช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตได้ดี ตลอดจนมีการนำน้ำแร่ไปทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพื่อขายนักท่องเที่ยวด้วย
สุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือ วิถีชีวิตชุมชนที่ยังประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง ซึ่งทะเลแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีทั้งกุ้ง หอย ปูม้า และปลา ที่ชาวชุมชนยังคงรักษาวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ชุมชนไว้เช่นเดิมไม่ได้เลือนหายไป แม้ว่าความเจริญจะเข้าไปในพื้นที่ก็ตาม