ท่องเที่ยวพื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งนกน้ำทะเลน้อย พัทลุง
ใครที่อยากชมทะเลบัวแดง นก และควายปลัก ห้ามพลาดที่นี่ ! ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง
พื้นที่ทะเลน้อย อยู่อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามทางธรรมชาติที่มีทะเลบัวแดง ฝูงนกกว่า 285 ชนิด วิถีการเลี้ยงควายปลัก หรือ ควายน้ำ และแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำนานาชนิด ที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งยังมีคลองนางเรียมเชื่อมระหว่างทะเลน้อยกับทะเลสาบสงขลา มีกิจกรรมท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นการนั่งเรือชมธรรมชาติ หรือเดินชมทัศนียภาพบนสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา นอกจากนี้พื้นที่ส่วนหนึ่งของทะเลน้อยยังเป็นแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำโลกด้วย หรือที่เรียกว่า แรมซาร์ไซต์ ถือได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ครบรส ซึ่งสามารถมาได้ทั้งศึกษา เรียนรู้ และท่องเที่ยวที่เพลิดเพลินไปกับธรรมชาติที่สวยงาม
นั่งเรือชมธรรมชาติอันสวยงาม ที่ทะเลน้อย เดินทางด้วยเรือหางยาว : โดยบริเวณด้านหน้าบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีผู้ประกอบการชุมชนคอยให้บริการเรือหางยาว ซึ่งอัตราราคาสามารถสอบถามได้ ณ จุดให้บริการท่าเรือ
ชมทุ่งดอกบัวทะเลน้อย ในพื้นที่ทะเลน้อยมีบัวสายพันธ์ุหลักๆ อยู่ 4 ชนิด ได้แก่ บัวหลวง บัวบา บัวเผื่อน และบัวสาย ซึ่ง บัวแดง เป็นสายพันธุ์ที่มีมากที่สุดในทะเลน้อยแห่งนี้ ที่พร้อมใจกันออกดอกบานสะพรั่งในหลายจุดของทะเลน้อย และในยามค่ำคืนจะส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ไปทั่วทั้งผืนน้ำแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีสาหร่ายข้าวเหนียว ที่เป็นพรรณไม้น้ำชนิดหนึ่งที่ออกดอกกระจายในรอบๆ และยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างสมดุลต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำด้วย (อ่อ ลืมบอกไปว่าเราจะเห็นดอกบัวจะเริ่มบานในช่วงเช้า ประมาณกลางเดือน ก.พ – พ.ค. ของทุกปี)
ท่ามกลางทะเลบัว ก็จะได้เห็นนกน้ำชนิดต่างๆ เดินและบินโฉบไปมาตลอด นกเหล่านี้ เป็นอีกหนึ่งสีสันที่ทำให้การล่องเรือน่าตื่นเต้น และทะเลน้อย เป็นแหล่งชมนกน้ำที่มีนกน้ำหลากหลาย มากกว่า 285 ชนิด ทั้งนกน้ำ นกประจำถิ่นและนกอพยพมาจากที่อื่นตามฤดูกาล เช่น นกกาบบัว นกกุลา นกอีโก้ง นกกระยาง นกกระสานวล นกกระสาแดง นกกาเล็กน้ำ นกแขวก นกเป็ดน้ำ นกกระทุง นกนางนวล นกกระเต็น นกกระสาแดง เป็ดแดง เป็ดคับแคบ นกพริก นกกวัก นกตีนเทียน ฯลฯ
ควายปลัก หรือ ควายน้ำ
อีกหนึ่งจุดไฮไลท์ของทะเลน้อย คือ “ควายปลัก” หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “ควายน้ำ” ที่เป็นสีสันอันแสนน่ารักของทะเลน้อย นอกจากนี้ การเลี้ยงควายปลักทะเลน้อย ยังเป็นการสืบถอดวิถีการเลี้ยงมานานกว่า 250 ปี ที่ชาวบ้านปล่อยให้ควายออกไปหากินหญ้าเองในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ในช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำสูงขึ้นนานหลายเดือนหญ้าจะจมอยู่ใต้น้ำ จึงทำให้ควายต้องปรับตัวว่ายน้ำ ดำน้ำลงไปกินหญ้าใต้น้ำ ต่อมาควายน้ำเกิดการผสมพันธ์ุกันเอง จนทำให้ควายเพิ่มขึ้นและมีจ่าฝูงพาฝูงออกไปหากินในตอนเช้า และกลับเข้าคอกในตอนเย็น จนกลายเป็นวิถีการเลี้ยงควายปลักทะเลน้อย และในปัจจุบันระบบการเลี้ยงควายปลักพื้นที่ทะเลน้อย ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร (Global Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAQ) นับได้ว่าเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นรางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับจังหวัดพัทลุงอีกด้วย
ล่องเรือผ่าอุโมงค์ป่าพรุทุ่งเสม็ด เพื่อชมธรรมชาติของป่าพรุที่เต็มไปด้วยต้นเสม็ด และในป่าพรุแห่งนี้ อยู่ในพื้นที่พื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสียน เขตห้ามล่าสัวต์ป่าทะเลน้อย ที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างแท้จริง และมีพันธ์ุไม้เด่น อาทิ ต้นเสม็ด กง กระจูดหูหนู ลิเภา นอกจากนี้ ต้นเสม็ดถือได้ว่าเป็นแหล่งทำรังของนกน้ำขนาดใหญ่ อาทิ นกกาบบัว นกกระสาแดง
นอกจากจะได้ชื่นชมธรรมชาติที่หลากหลายแล้ว ในบางครั้งเมื่อเราล่องเรือเที่ยวทะเลน้อย เรายังคงเห็นถึงวิถีชีวิตของชาวทะเลน้อยที่โดดเด่นไปด้วยการทำประมงพื้นบ้านที่ยังคงสืบทอด อนุรักษ์การประมงในรูปแบบเดิมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนกับชุมชนในพื้นที่ และสามารถหาปลา ดำรงชีวิต และสร้างรายได้ให้กับชุมชนทะเลน้อยต่อไปในอนาคต
ความงามของสีเขียวบนพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยมาจากวัชพืช ที่ปัจจุบันพื้นที่ทะเลน้อยประสบปัญหาในเรื่องของวัชพืชที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้พืชบางชนิดไม่สามารถเติบโตได้และกลายเป็นซากทับถมใต้น้ำส่งผลให้พื้นที่ทะเลน้อยเกิดการตื้นเขิน แต่ในอีกนัยหนึ่งของวัชพืชที่เป็นของประโยชน์ต่อพื้นที่ทะเลน้อยนั้นยังเป็นที่วางไข่ของนกนานาชนิด แล้ววัชพืชบางประเภทยังมีความสามารถในการดูดซับสารพิษ สารหนูในแห่งน้ำได้เป็นอย่างดี ถือว่าเป็นระบบบำบัดน้ำเสียทางธรรมชาติไปในตัว และหากใครมาพัทลุงแล้ว อย่าลืมมาเที่ยวที่ทะเลน้อย ที่ล้อมไปด้วยแหล่งธรรมชาติอันดงามแห่งนี้