องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

"วิถีชีวิต อัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรม" ดึงนักท่องเที่ยว

1625649480
ขนาดตัวอักษร

          แม้ว่าพื้นที่ "คุ้งบางกะเจ้า และคลองดำเนินสะดวก" จะอยู่ในเขตเมืองที่มีความเจริญเข้าไปถึง แต่สถานที่ทั้ง 2 แห่งนี้ ยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ชุมชนอย่างเหนียวแน่น ไม่ได้ถูกความเจริญกลืนหายไปเช่นเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแห่งที่ความเจริญเข้าไปแทนที่
 


          นั่นเป็นเพราะว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เข้าไปร่วมมือกับภาคีเครือข่ายบริหารจัดการพื้นที่ โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อคงไว้ซึ่งวิถีชีวิต อัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้องค์ความรู้ที่อพท. เชี่ยวชาญเข้าไปจับ นั่นคือ "การท่องเที่ยวโดยชุมชน"

          นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อธิบายว่า อพท. ใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการพื้นที่ "คุ้งบางกะเจ้า และคลองดำเนินสะดวก" โดยมุ่งหวังพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว สร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นทุนของอัตลักษณ์วิถีวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยว เส้นทางท่องเที่ยวสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่โดดเด่น โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษ 1 (อพท.1) รับหน้าที่ดูแลพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ซึ่งมีแผนพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยว 5 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย

 


นางสาววัชรี ชูรักษา
 

             1. ยกระดับกลไกการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตั้งแต่กลไกระดับตำบล ซึ่งก็คือชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนทั้ง 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลทรงคนอง ตำบลบางกระสอบ ตำบลบางยอ ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลบางกอบัว และตำบลบางกะเจ้า โดยปีนี้จะให้ความสำคัญกับการถอดบทเรียนการทำงาน การทบทวนและจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง พ.ศ. 2564-2566 ของแต่ละชมรมฯ  รวมทั้งการจัดเก็บสถิตินักท่องเที่ยว รายได้จากการท่องเที่ยว และมุ่งเน้นให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น การนำข้อควรปฏิบัติของนักท่องเที่ยวไปเผยแพร่และปฏิบัติจริง ตลอดจนการสร้างความรู้ ความเข้าใจในการจัดทำบัญชีที่ถูกต้องและนำไปใช้งานได้จริง

             ทั้งนี้ อพท. 1 ได้ประสานภาคีที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ คือ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีโครงการ "กรุงไทยรักชุมชน" ที่ได้พัฒนามาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ถัดมาเป็นกลไกระดับคุ้ง ก็คือชมรมเครือข่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนคุ้งบางกะเจ้า ซึ่งกรรมการเป็นตัวแทนในระดับตำบล ตำบลละ 4  คน เข้ามาขับเคลื่อนการทำงานด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนร่วมกันในภาพรวมของคุ้งบางกะเจ้า กลไกระดับถัดมา คือ คณะทำงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่ความยั่งยืน แบ่งเป็น 7 ด้าน โดยมีคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในคณะทำงานดังกล่าว ผู้อำนวยการ อพท. เป็นประธานคณะทำงาน มีภาคีภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และชมรมท่องเที่ยว ร่วมขับเคลื่อนรวม 46 องค์กร จำนวน 63 คน

             2. พัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยว ได้แก่ การพัฒนานักสื่อความหมายในแต่ละตำบลและนักสื่อความหมายที่จะประสานและให้ความรู้ในลักษณะของเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างตำบล เพื่อเป็นการเพิ่มเสน่ห์และสร้างมูลค่าหรือคุณค่าเพิ่ม เติมเต็มประสบการณ์ในการมาท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งการจัดทำคู่มือนักสื่อความหมายท้องถิ่นในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า นอกจากนี้ยังมีการประเมินศักยภาพของชุมชนตามตามเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อให้ทราบระดับการพัฒนาพร้อมทั้งประเด็นที่จะต้องเสริมเข้าไปให้เข้มข้นขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ชุมชนได้รับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประเมินและนำไปปรับปรุงต่อไป

 


 

             3. ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนและคุ้งบางกะเจ้า ด้วยการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ทั้งสื่อ Online และ Offline สำหรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ ทั้งการจัดทำคู่มือท่องเที่ยวและคลิปวิดีโอของแต่ละตำบลและในภาพรวมของคุ้ง สำหรับสื่อ Online เน้นสร้างการรับรู้ผ่านเพจท่องเที่ยว

             4. ยกระดับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ให้มีความพร้อมในการนำเสนอสู่กลุ่มตลาดเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น เริ่มพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในปี พ.ศ.2562 โดยพัฒนากิจกรรมหอมป่าจาก ชิมชานมจาก เรียนทำอาหารพื้นบ้าน แกงส้มพริกสด โดยชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตำบลบางกะสอบ ในปี พ.ศ.2563 ยกระดับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ต้นแบบ และพัฒนาพื้นที่ขยายผล 2 ตำบล ได้แก่ กิจกรรมทำธงตะขาบจิ๋ว โดยชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลทรงคนอง และกิจกรรมทำเมี่ยงกลีบบัวพริกเกลือ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบางกอบัว โดยในปี พ.ศ.2564 ยกระดับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ 3 ตำบลต้นแบบเพื่อเชื่อมโยงสู่การตลาดท่องเที่ยว และขยายผลพื้นที่พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น
 


             5. ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงอาหารบนฐานอัตลักษณ์อาหารถิ่นคุ้งบางกะเจ้า เพื่อเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และนำเสนอขายให้กับบริษัทนำเที่ยวและกลุ่มตลาดเป้าหมายได้ต่อไป