การอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อปกป้องแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
1 ใน 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก สาขา Nature & Scenery
Green Destination Top 100 Stories เป็นการเล่าเรื่องราวความยั่งยืนหรือความสำเร็จของแหล่งท่องเที่ยว ที่นำเสนอถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข รวมไปถึงผลกระทบที่ได้รับต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่แหล่งท่องเที่ยวต้องนำเสนอเรื่องราวความสำเร็จในการจัดการความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวในประเด็นต่างๆ
โดยแหล่งท่องเที่ยวสามารถนำเสนอประเด็นความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวตามหมวดหมู่ทั้ง 6 ด้าน ดังนี้
-
Business & Marketing
-
Culture & Tradition
-
Environment & Climate
-
Government, Reset & Recovery
-
Nature & Scenery
-
Thriving Communities
เรื่องราวของแหล่งท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จในการจัดการความยั่งยืนประจำปี 2023 จะเป็นอย่างไร มาติดตามไปด้วยกันนะคะ
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มรดกโลกขององค์การยูเนสโก และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอเมืองเก่า สุโขทัย ประสบปัญหากับพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานมานานหลายปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์ ทัศนียภาพ และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยมี 2 กรณีที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นปัญหาเร่งด่วน ดังนี้
1.ปลาดุกรุกรานแหล่งน้ำภายในโบราณสถาน ซึ่งมีสาเหตุมาจากนักท่องเที่ยวซื้อปลาดุกจากตลาดสดบริเวณใกล้เคียงแล้วปล่อยลงไป
2.นกกระสาอพยพมาทำรังภายในอุทยานฯ ถึงแม้จะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย แต่ส่งผลกระทบต่อความสวยงามและระบบนิเวศภายใน
ทั้ง 2 ประเด็นได้รับการแก้ไขอย่างประสบผลสำเร็จ โดยปลาดุกทั้งหมดถูกย้ายออก มีการปรับปรุงแหล่งน้ำ และฟื้นฟูระบบนิเวศ ส่วนกรณีของนกกระสา การปรับภูมิทัศน์เพื่อลดความเหมาะสมในการทำรัง ทำให้จำนวนนกที่เข้ามาลดลง
กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่า การบริหารจัดการความซับซ้อนของธรรมชาติที่อยู่ร่วมกับมรดกทางวัฒนธรรมเปรียบเสมือนการทดลองระยะยาว เนื่องจากปัญหาทางวัฒนธรรมและปัญหาทางธรรมชาติมักมีความเชื่อมโยงและส่งผลกระทบซึ่งกันและกันอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น การกระทำของนักท่องเที่ยวที่ปล่อยปลาดุก นำมาสู่ปัญหาพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความสวยงามของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ดังนั้น การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องพิจารณาถึงทั้งมิติทางวัฒนธรรมและมิติทางธรรมชาติควบคู่กัน
สนใจอ่านเรื่องราวทั้งหมด https://www.greendestinations.org/mueang-kao-sukhothai-thailand/