การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ณ สำนักสงฆ์ลัวะ 14 หลังคา จังหวัดเชียงราย
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ณ สำนักสงฆ์ลัวะ 14 หลังคา
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) หมายถึง การเดินทางท่องเที่ยวเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยสดงดงามในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตและพักผ่อนหย่อนใจ โดยแบ่งเวลาจากการท่องเที่ยว เพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ หรือการบำบัดรักษาฟื้นฟูสุขภาพ ในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มีสำนักสงฆ์ลัวะ 14 หลังคา ตั้งอยู่บนเขาสูง อากาศเย็นตลอดปี เป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การปฏิบัติติธรรม หรือการผ่อนคลายจิตใจ ชุมชนบ้านผาแตกอยู่รอบสำนักสงฆ์ลัวะ 14 หลังคา ประกอบด้วย ชาติพันธุ์ลัวะ และชาติพันธุ์อาข่า อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เมื่อสำนักสงฆ์ลัวะ 14 หลังคา มีกิจกรรมทางศาสนา ชุมชนจะมาร่วมด้วยช่วยกันอย่างแข็งขัน รวมทั้งเมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมสถานที่สำนักสงฆ์ลัวะ 14 หลังคา ชุมชนจะมีส่วนร่วมในการต้อนรับอย่างอบอุ่นด้วยการแต่งกายประจำชาติพันธุ์ นักท่องเที่ยวจะได้รับฟังเรื่องราวการขุดค้นหินแร่เหล็กไหล จากพระครูบาบุญปั๋น ชยานันโท สักการะพระพุทธรูปสิงห์หนึ่ง หินแร่เหล็กไหลโกฏิปีสีเขียวปีกแมลงทับ ชมวิหารและศาลาปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานล้านนากับเชียงตุง โดยช่างหัตถศิลป์แบบเชียงตุง ด้วยงานตกแต่งฉัตรและหลังคาโดยการฉลุลายโลหะ และเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านล้านนา ซึ่งตามประวัติศาสตร์การแพทย์พื้นบ้านล้านนา
หมอเมือง คือหมอแผนโบราณผู้ทำการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เป็นการรักษาด้วยวิชาการตามประเพณี ที่สืบทอดกันมา มีตำรา “ปั๊บ” ตัวอักษรพื้นเมืองเป็นตำรา บอกสูตรยาสมุนไพร เป็นเครื่องมือในการศึกษาหาความรู้ ชาวล้านนาสมัยก่อนมีความเชื่อเกี่ยวกับธาตุทั้ง 5 ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศธาตุ (หมายถึงช่องว่างภายในร่างกาย ที่เชื่อมต่อกับทวารต่างๆ เช่น หู ตา จมูก ปาก ทวารหนัก ทวารเบา และช่องคลอดในหญิง ถ้าไม่มีช่องว่างเหล่านี้ ธาตุลมจะเข้าสู่ร่างกายไม่ได้) และเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมว่าเหตุแห่งการเจ็บป่วยเกี่ยวข้องกับกรรม ทั้งกรรมจากการกระทำในปัจจุบันและกรรมจากการสั่งสมมาแต่อดีตชาติ ดังนั้นสุขภาพจึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะหมอ ยา โรงพยาบาลแต่อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการดำเนินวิถีชีวิต ทั้งในส่วนบุคคล (กาย จิต จิตวิญญาณ) ส่วนของครอบครัวกับญาติมิตร และในส่วนของสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งศักยภาพทางภูมิปัญญาในการดูแลรักษาสุขภาพซึ่งแตกต่างกันไปตามบริบทของสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 นวดไทย (Nuad Thai) ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage) จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ณ กรุงโบโกตา สาธารณรัฐโคลอมเบีย นั่นหมายความว่าการนวดไทยมีความสำคัญ ช่วยบำบัดอาการเจ็บป่วยได้ ควรแก่การรักษาให้เป็นมรดกของมนุษยชาติ สำนักสงฆ์ลัวะ 14 หลังคา ได้รวบรวมศาสตร์ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการดูแลสุขภาพของชาวล้านนา รวมถึงนวดไทย ไว้ที่ Home ญา ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาหมอเมือง ณ สถานที่แห่งนี้มีพระคิลานุปัฏฐาก หมายถึงพระสงฆ์ ผู้ที่มีหน้าที่ในการสนองงานคณะสงฆ์ด้านการแพทย์และพยาบาล รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับ สาธารณสุขประจำพื้นที่ในแต่ละตำบลขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะของพระสงฆ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยว สามารถมารับการบำบัดได้ โดยมีบริการ ดังนี้
1. ตอกเส้น เป็นศาสตร์การนวดรักษาของล้านนา โดยใช้ไม้ เช่น ไม้แก่นขาม ไม้เกล็ดดำ ไม้งิ้วดำ ไม้ที่ถูกฟ้าผ่า เป็นต้น ไม้ตอกเส้นมีลักษณะคล้ายลิ่มหรือสิ่วแต่ไม่คม ผู้ตอกจะตอกไปตามร่องกล้ามเนื้อ การตอกเส้นจะลงน้ำหนักที่เส้นได้ลึกกว่าและการขยายตัวของกล้ามเนื้อได้ดีกว่าการนวดทั่วไป
2. ย่ำขาง ถือเป็นการนวดผ่านความร้อนทาน้ำมันและประคบร้อน ในขณะเดียวกัน โดยใช้เท้าเหยียบน้ำมัน เหยียบขาง (ผานไถ) ที่เผาจนร้อนแดง แล้วจึงมาเหยียบบนตัวคนไข้
3. สมุนไพรบำบัด โดยการอบสมุนไพรสุ่มไก่ เพื่อผ่อนคลายและบำบัดอาการเกี่ยวกับเลือดลม และปวดเมื่อย
4. จู้ยา หรือการนวดประคบ ใช้สมุนไพรมาห่อด้วยผ้าทำเป็นลูกประคบ แล้วนำไปนึ่งจนลูกประคบร้อน ใช้ความร้อนจากลูกประคบในการคลายอาการตึงเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการปวด ลดอาการติดขัด ทำให้พังผืดอ่อนตัวลง เพิ่มการไหลเวียนของโลหิตและขยายรูขุมขนให้กว้างทำให้ตัวยาสมุนไพรที่อยู่ในลูกประคบออกฤทธิ์ได้มากขึ้น โดยสมุนไพรที่ใช้ ประกอบด้วย ไพล ตะไคร้ ขมิ้นชัน ใบมะขาม ใบหนาด ใบเปล้าใหญ่ ผิวมะกรูด
นอกจากนี้สำนักสงฆ์ลัวะ 14 หลังคา ยังเปิดอบรมการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาล้านนา ดังกล่าวหลักสูตร 8 วัน เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้กลับไปดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัวที่บ้านอย่างต่อเนื่อง