มหัศจรรย์วัฒนธรรมอีสานบนถิ่นฐานล้านนา “ประเพณีบุญบั้งไฟ”
มหัศจรรย์วัฒนธรรมอีสานบนถิ่นฐานล้านนา “ประเพณีบุญบั้งไฟ”
อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเชียงราย (อพท.เชียงราย) ขอพาไปชม “ประเพณีบุญบั้งไฟ” ประเพณีวัฒนธรรมอีสานบนถิ่นฐานล้านนาในอำเภอเชียงแสน ถือเป็นการสืบสานประเพณีที่งดงามของชาวอีสานที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งผู้คนในชุมชนตำบลโยกนก อำเภอเชียงแสน ล้วนแล้วได้ย้ายถิ่นฐานมาจากภาคอีสาน และได้นำวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อต่างๆ ที่สำคัญของตำบลโยนก อาทิ สืบชะตาทะเลสาบเชียงแสน ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง และประเพณีบุญบั้งไฟ
ซึ่งไฮไลท์สำคัญในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ คือ วันแห่ขบวน มีมหรสพ การละเล่นท้องถิ่นที่มีเสน่ห์ความเป็นอีสานของพี่น้องชาวอีสาน ที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ภาคเหนือกว่าหลายศตวรรษในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงรายซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บ้านทุ่งฟ้าฮ่าม และบ้านสันธาตุ ที่อยู่ในพื้นที่ตำบลโยกนก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ก็ได้มีการจัดงานบุญบั้งไฟเป็นประจำทุกปี เพื่อสืบสานประเพณีศิลปะวัฒนธรรมของชาวอีสาน ภายในขบวนบั้งไฟมีการประดับตกแต่งจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่น อย่างบ้านสันธาตุมีกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจร ได้นำสนอวิถีชีวิตของท้องถิ่นในเรื่องของการเลี้ยงหม่อนไหม จนนำไปสู่เป็นผ้าทอไหม มาประดับตกแต่งในขบวนแห่ด้วย รวมทั้งมีการนำเสนอ “หมวกกาบ” หรือ "กระโจมหัว" หมายถึงสัญลักษณ์ของเทริดหรือมงกุฎในวัฒนธรรมอีสาน-ล้านช้าง ในรูปแบบช่างชาวบ้าน ในอดีตมีคำกล่าวถึง กระโจมคำ หมายถึงมงกุฎทอง ในวรรณคดีอีสานและล้านช้าง ซึ่งได้นำรูปแบบมาสร้างใหม่ในแบบงานผ้าปักไหมและปักดิ้น โดยใช้กาบหมาก บุด้วยผ้า เย็บประกอบขึ้นเป็นโครงสามเหลี่ยม หรือดอกบัวตูม ปัจจุบันพบในวัฒนธรรมอีสานและลาว โดยเฉพาะที่ภาคอีสาน มักใช้ในหลายๆ กิจกรรม เช่น การสวมหมวกกาบในการเซิ้งบั้งไฟ ในจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ เป็นต้น
“ประเพณีบุญบั้งไฟ” หรือบุญเดือนหก เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวอีสาน ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ สมัยโบราณ จนได้มีการกำหนดไว้ในประเพณี 12 เดือน ควบกับครรลองปฏิบัติของฝ่ายปกครองหรือระบบการปกครองแบบอาญา 4 อีสานโบราณ ซึ่งเรียกรวมกันว่า “ฮีตสิบสองคองสิบสี่” ในงานบุญบั้งไฟนั้นชาวอีสานจะร่วมแรงร่วมใจกันอย่างพร้อมเพียงและด้วยแรงศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความรักความสามัคคีที่ดีต่อกันของคนในชุมชน แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้กับสภาพอากาศอันแห้งแล้งของท้องถิ่นอีสาน เพื่อความอยู่รอดเพราะชาวอีสานมีความเชื่อว่าหากปีไหนไม่มีงานบุญบั้งไฟ ฝนจะไม่ต้องตกตามฤดูกาลนั้นเอง
ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีบุญบั้งไฟ จุดประสงค์หลักใหญ่ก็เพื่อขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล จะได้มีน้ำในการทำนาและดำรงชีพ ทำให้พืชพันธุ์ ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ชาวอีสานก็จะได้มีกินดีอยู่ดีและมีรายได้จากความอุดมสมบูรณ์นั้น โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ กล่าวถึง งานบุญบั้งไฟ เป็นงานบุญที่ชาวบ้านจัดขึ้นเพื่อเป็นการบูชาพญาแถน เทพเจ้าแห่งฝนให้ท่านบันดาลให้ฝนตกลงมา และเป็นการบูชาอารักษ์มเหศักดิ์หลักเมือง เพื่อขอฝนเช่นเดียวกันและยังขอให้ท่านอำนวยความสมบูรณ์พูนสุขให้กับท้องถิ่นนั้นๆด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากก่อนจุดบั้งไฟก็จะนำบั้งไฟไปคารวะเจ้าพ่อหลักเมืองเสียก่อน รวมทั้ง เพื่อเสี่ยงทายดินฟ้าอากาศและพืชพันธุ์ ธัญญาหาร ถ้าบั้งไฟขึ้นสูง ปีนั้นฝนฟ้า พืชพันธุ์ ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ถ้าบั้งไฟไม่ขึ้นหรือแตกเสียก่อน ปีนั้นก็จะขาดแคลนน้ำ เป็นต้น ซึ่งขนาดของบั้งไฟ มีหลากหลายขนาด คือ 1) บั้งไฟร้อย มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำ ประมาณ 3 กก. 2) บั้งไฟหมื่น มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำ ประมาณ 12 กก. 3) บั้งไฟแสน มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำ ประมาณ 120 กก. และ 4) บั้งไฟล้าน มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำ ประมาณ 500 กก. เมื่อทำบั้งไฟเสร็จแล้วก็จะมีการตกแต่งประดับประดาด้วยกระดาษสีอย่างสวยงาม ซึ่งเรียกเป็นภาษาพื้นบ้านว่า เอ้ ส่วนท่อนหัวและท่อนหางของบั้งไฟจะประกอบเป็นรูปต่าง ๆ ตามที่ต้องการ ส่วนมากจะเป็นรูปหัวพญานาค
ดังนั้น ชาวบ้านในชุมชนตำบลโยกนก จึงจัดประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อเป็นการบูชาพญาแถน ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล และเพื่อยังคงรักษาวัฒนธรรมและอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามเอาไว้ให้ลูกหลาน รวมทั้ง สร้างความร่วมมือและปลูกจิตสำนึกรักประเพณีท้องถิ่นของชาวอีสาน และเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ ความรักสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชนและสังคม จนนำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน และมีการกระจายรายได้ให้กับชุมชนมากยิ่งขึ้น
ในอำเภอเชียงแสน นอกจากชุมชนบ้านสันธาตุซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ส่งเสริมและอนุรักษ์การผลิตไหมไทย เพื่อพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยได้รับการส่งเสริมให้ได้เลี้ยงไหมไทยและไหมไทยลูกผสม พัฒนาการผลิตเส้นไหม ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรมระดับย่อยในชุมชน พัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนและไหมไทย เช่น การผลิตชาใบหม่อน ส่งเสริมระบบการตลาดไหมไทย และเน้นการผลิตไหมแบบครบวงจร แต่เดิมปู่ ย่า ตา ยาย มีถิ่นฐานอยู่ที่ภาคอีสานได้ย้ายมาอยู่ที่ภาคเหนือ คนในหมู่บ้านมีการทอผ้าไหมเป็นผ้าสไบสีต่าง ๆ ผ้ามัดหมี่ ผ้าถุง ผ้าขาวม้า ผ้าพื้น เป็นลายโบราณ ทอใช้เองในครอบครัว จนกระทั่งมีการรวมกันตั้งเป็นกลุ่มขึ้น ต่อมามีหน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนการทอผ้าไหม เช่น อบรมให้ความรู้ด้านการออกแบบลายผ้าไหม การย้อมสีผ้าไหม การทอผ้าไหม การสาวไหม เป็นต้น จนสมาชิกในกลุ่มมีความรู้เรื่องผ้าไหมดี ซึ่งได้ออกแบบลายด้วยตัวเอง และผ้าที่ทอก็ได้เป็นที่ยอมรับของตลาด จนกระทั่งปี 2547 ได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านไหมไทยเฉลิมพระเกียรติ และได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยชนิด Thai silk โดยตรานกยูง โดยผ้าไหมสันธาตุเป็นผ้าไหมทอมือ ทอจากไหมไทยแท้ 100% ทำด้วยความประณีตสวยงาม ผ้าไหมไม่ตกสี จุดเด่นของผ้าไหมสันธาตุ คือ จะมีการตีเกลียวเส้นไหมทุกเส้นก่อนการทอ ซึ่งทำให้ได้ไหมเส้นสวย เนื้อผ้าที่เรียบ ไม่มีรอยปุ่มหรือปม ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมสันธาตุ ได้แก่ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าโสร่ง ผ้าพันคอ ผ้าซิ่น เป็นต้น นอกจากนั้นชุมชนมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากใบหม่อน เช่น ชาใบหม่อน สบู่ เป็นต้น
ในตำบลบ้านแซว ยังมีชุมชนบ้านท่าขันทอง เป็นชุมชนท่องเที่ยวที่ได้นำวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอีสานมาผสมผสานเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ถูกจัดการในรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่มีวิถีชีวิตและเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมที่โดดเด่นของความเป็นอีสานล้านนามาเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งมีกิจกรรมท่องเที่ยว อาทิ นั่งรถอีต๊อกชมวิถีชุมชน เรียนรู้การสีข้าวแบบวิธีโบราณ ล่องเรือชมแม่น้ำโขง ชมศิลปะหมอลำ หมอแคน และที่ห้ามพลาดเลย คือ มาท่าขันทอง ต้องมากินหมูย่างตาปั้น น้ำพริกยายปั๋น ที่นักท่องเที่ยวที่ได้มาลิ้มลองต้องติดใจ >> รีวิว สัมผัสวิถีชีวิตอีสานล้านนา ล่องเรือแม่น้ำโขง ตามรอยนครโบราณสุวรรณโคมคำ ที่ชุมชนบ้านท่าขันทอง จังหวัดเชียงราย (https://www.dasta.or.th/th/article/2960)
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=4941&filename=index
http://m-culture.in.th/album/view/194071/
เพจ เชียงรายบ้านเรา - Chiang Rai