องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ดัน "เชียงคาน" สู่ CBT Thailand

1625659200
ขนาดตัวอักษร

          เปิดแผนพัฒนา "เชียงคาน จังหวัดเลย" แหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ตามรอยวิถีริมโขง วิถีทางวัฒนธรรม วิถีเกษตร พร้อมทั้งเที่ยวเชื่อมโยงไทย-ลาว  
 


เชียงคาน จ.เลย
 

          แม้ว่า "เชียงคาน จังหวัดเลย" จะได้รับการจัดอันดับสุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก  (Sustainable Destinations Top 100 หรือ Top 100) จากการจัดอันดับโดยหน่วยงานระดับโลก Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับคณะผู้จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก (International Tourism Borse หรือ ITB) กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องการสร้างระบบนิเวศท่องเที่ยว แต่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนา “เชียงคาน จังหวัดเลย” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม

          นายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 (อพท.5 ) เปิดเผยว่า อพท.5 อยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผนแม่บทการพัฒนาปี 2563-2570 ซึ่งต่อยอดจากแผนแม่บทเดิม ซึ่งจะพัฒนาจังหวัดเลยให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลายมากขึ้น นอกเหนือจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายให้จังหวัดเลยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เป็นการบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้เห็นภาพการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
 


นายธรรมนูญ ภาคธูป

 

          โดยเฉพาะในพื้นที่เชียงคานและภูกระดึงนั้น จะเข้าไปพัฒนาส่งเสริมชุมชนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพ พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาให้เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand ซึ่งได้สร้างเป็นโครงข่ายเชื่อมโยง 15 ชุมชน ครอบคลุม 9 อำเภอ ในจังหวัดเลย เพื่อให้การท่องเที่ยวกระจายไปยังชุมชนต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักไปยังแหล่งท่องเที่ยวรอง โดยมีพื้นที่เชียงคานเป็นต้นแบบและขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งยึดอัตลักษณ์ให้จังหวัดเลยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม

 


ภูกระดึง จ.เลย
 

          ความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยรอบสกายวอล์กที่มี 9 ชุมชน เช่น ชุมชนบ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นชุมชนของชาวไทพวนที่อพยพมาจากเมืองพวน ทางตอนเหนือของประเทศลาว ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมการละเล่น และชุมชนบ้านคกงิ้ว ซึ่งได้จัดตั้งเป็นศูนย์ชุมชนคกงิ้ว และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

          นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งวิถีริมโขง วิถีทางวัฒนธรรม และวิถีเกษตร รวมถึงยังมีชุมชนอื่น ๆ ที่ยังมีอัตลักษณ์ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว มาสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนด้วย

 


สกายวอล์กภูคกงิ้ว
 

          อย่างไรก็ตาม อพท. ยังได้เข้าไปส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยชุมชนแหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา น้อมนำมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตทั้งด้านการเพาะปลูก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประจำชุมชนอีกด้วย

          ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดเลยสามารถเดินทางไปประเทศลาวได้ อพท. จึงร่วมกับการท่องเที่ยว สปป.ลาว สร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง จากการที่จังหวัดเลยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้างในอดีต มีพื้นที่ประกอบด้วย ไซยะบุรี เวียงจันทน์ หลวงพระบาง ทำให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สามารถหยิบยกและสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ผสมผสานศิลปะและวิถีชีวิต ที่ อพท. ได้นำแผนเข้าไปดำเนินการพัฒนาชุมชนดั้งเดิม แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ชุมชน และพัฒนาต่อยอดเป็นกิจกรรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างสร้างการรับรู้เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยังประเทศลาว