เพชรบุรีเมือง 3 รส เค็ม เปรี้ยว หวาน อร่อยกำลังดี
แนะนำผลผลิตขึ้นชื่อจังหวัดเพชรบุรี จนได้รับการขนานนาม “เมือง 3 รส” ทั้งรสเค็ม รสเปรี้ยว และรสหวาน เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
เพชรบุรี จังหวัดที่มีดีทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตผู้คน หากแต่อรรถรสท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวอาจไม่ทำให้เรารู้จักจังหวัดนี้ดีพอ เพราะรสชาติอาหารของที่นี่ก็เลิศรสไม่แพ้กัน กับ 3 รสเด็ด ได้แก่ เค็ม เปรี้ยว และหวาน ก่อเกิดเป็นการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนถนนวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษฝั่งทะเลตะวันตก (อพท. 8) ได้วางแนวทางการพัฒนาท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี ด้วยการผนวกกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้ากับแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัด พัฒนากิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมในการลงมือทำ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กลุ่มครอบครัว หรือกลุ่มศึกษาดูงาน เป็นต้น เป็นการกระจายนักท่องเที่ยวให้ทั่วถึงทั้งจังหวัด และมุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
เสน่ห์แห่งรสบนความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินเมืองเพชร
นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินเมืองเพชร ผลิตความหลากหลายของพืชพรรณธัญญาหารมากมาย สะท้อนผ่านภาพผืนนาเกลือกว้างใหญ่ ท้องร่องสวนมะนาว และดงตาลสูงฉลูด ไว้ภายใต้ความงดงามของทิวทัศน์ที่ซ่อนขุมทรัพย์ล้ำค่า หล่อเลี้ยงเมืองเพชรอย่างไม่สิ้นสุด เมื่อมีวัตถุดิบดีเยี่ยม ผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนเมืองเพชร ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จึงเกิดเป็นเสน่ห์แห่งรสชาติ ทั้งเค็ม เปรี้ยว และหวาน สะท้อนรากวัฒนธรรมของเพชรบุรีอย่างชัดเจน
- รสเค็ม จากเกลือบ้านแหลม เมืองหลวงของเกลือ
ตลอดสองฟากฝั่งถนนของเส้นทางคลองโคน บางตะบูน เข้าสู่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี นาเกลือผืนกว้างถูกจัดแบ่งด้วยเขตคันดินออกเป็นรูปสี่เหลี่ยมนับไม่ถ้วนสุดสายตา ผืนน้ำของนาเกลือสะท้อนท้องฟ้า มองไปมองหาคล้ายกับท้องทะเล จะผิดก็แต่เป็นท้องทะเลที่คลื่นลมสงบ ไม่มีแม้แต่เสียงซู่ซ่าให้ได้ยิน ซึ่งเป็นประจำในช่วงฤดูปลอดฝน เราจะเห็นบรรยากาศของชาวบ้านในชุมชนช่วยกันตักเกลือและขนเกลือเข้าไปในยุ้งฉางหลังใหญ่ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญในการทำนาเกลือ คือ น้ำทะเล กระแสลม และแสงแดด สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต วิธีการเริ่มจากการรับน้ำทะเลเข้ามาขังให้ได้ที่ แล้วนำมาบ่มให้ได้ความเค็ม ซึ่งจะให้ดีควรอยู่ที่ 20-24 ดีกรี ใช้เวลาประมาณ 25 วัน จนเกลือตกผลึก เมื่อเกลือได้ที่จึงใช้ไม้รุนผลึกเกลือให้แตก จากนั้นก็ค่อย ๆ ลากมารวมเป็นกอง แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิท แล้วจึงมาช่วยกันเก็บเม็ดเกลือขาว ๆ อย่างที่เราเห็น
หากแต่กว่าจะออกมาเป็นเม็ดเกลือตกผลึกวาว ใครเลยจะรู้ถึงรายละเอียดขั้นตอนที่ซุกซ่อนไว้ ตั้งแต่การปรับหน้าดิน การทิ้งน้ำทะเลไว้ในนาตาก เมื่อได้ที่ปล่อยเข้าสู่นาปลง แต่ละอย่างล้วนต้องอาศัยความอดทน ตั้งแต่รอเวลาการแห้งของเกลือ การใช้แรงงานคนในการแบกหามท่ามกลางอากาศร้อน ทำให้รู้เลยว่ากว่าจะได้เกลือมาใช้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด
นอกจากภูมิปัญญาในการทำนาเกลือแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเกลืออย่าง "ดอกเกลือ" ถือเป็นของดีอีกหนึ่งอย่างที่ชาวบ้านในชุมชนอำเภอบ้านแหลม นำมาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ที่ผสมผสานกับสมุนไพรไทย ภายใต้การรวมกลุ่มของชาวบ้านในชื่อ "กลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง" เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น และพัฒนาคุณภาพในชีวิตด้วยวิถีแห่งภูมิปัญญา
- รสหวาน จากน้ำตาลเมืองเพชร พืชเศรษฐกิจที่อยู่คู่กับเมือง
น้ำตาลโตนดเมืองเพชรบุรีนั้น ขึ้นชื่อเรื่องความหอมหวานมายาวนาน เนื่องจากจังหวัดเพชรบุรีมีการปลูกต้นตาลมากที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีน้ำตาลโตนดคุณภาพดี รสชาติหอมหวาน จนเป็นที่ร่ำลือกันแบบปากต่อปาก ณ อำเภอบ้านลาด "สวนตาลลุงถนอม" แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาตาลโตนด หรือกลุ่มอนุรักษ์และสืบสานตาลโตนด หนึ่งเดียวของจังหวัดเพชรบุรี ชุมชนที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติ ทั้งภูเขา ป่าไม้ และแม่น้ำ เหมาะแก่การเพาะปลูกโดยเฉพาะต้นตาล เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนความผูกพันระหว่างชาวบ้านและต้นตาล ทั้งการทำอาชีพและอาหารการกินที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ต้นตาลหนึ่งต้นจึงไม่ได้มีสถานะเป็นแค่พืชพื้นถิ่นเท่านั้น หากเต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชีวิตชาวสวนตาลที่อยู่คู่กับชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน
โดยน้ำตาลโตนดที่ได้จากต้นตาล สามารถนำไปเป็นส่วนผสมสำคัญในการผลิตขนมไทยนานาชนิด ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานด้านการทำตาลให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษา พร้อมกับได้รับรู้ถึงประโยชน์ของต้นตาล การเก็บน้ำตาลโตนด การเคี่ยวน้ำตาล ให้ได้ชมและชิมกัน
- รสเปรี้ยว จากมะนาวท่ายางและบ้านลาด แหล่งปลูกมะนาวแป้นขึ้นชื่อของประเทศ
มะนาวแป้น จังหวัดเพชรบุรี ของขึ้นชื่อประจำอำเภอท่ายางและอำเภอบ้านลาด คุณภาพของมะนาวที่นี่จัดว่าไม่เป็นสองรองใคร ด้วยเพราะสภาพภูมิอากาศไม่ร้อนจัดหรือหนาวจัด มีระบบชลประทานสมบูรณ์ โดยเฉพาะดินมีลักษณะเป็นดินปนทราย เหมาะแก่การปลูกมะนาว นอกจากนี้คุณลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นดินจังหวัดเพชรบุรี ทำให้มะนาวมีกลิ่นหอมไม่เหมือนใคร ทำให้เป็นที่นิยมของผู้ของผู้บริโภค
ลักษณะเด่นสำคัญที่ทำให้มะนาวแป้นต่างจากที่อื่น นั่นคือ มีผลใหญ่ ค่อนข้างกลม เนื้อสีขาวใส ให้น้ำมาก เมล็ดน้อย หากสังเกตดูที่ต้นจะเห็นเลยว่าออกดอกเป็นพวงและดก และเมื่อลองลิ้มชิมรส จะรับรู้ได้ถึงรสเปรี้ยวกลมกล่อมติดปลายลิ้น แต่ก็ไม่เปรี้ยวแหลมจนเกินไป มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์
มะนาวแป้นแต่ละสวนล้วนได้รับความเอาใจใส่และการดูแลผลิตจากเกษตรกรอย่างใกล้ชิด จนบางสวนเปิดโอกาสผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้แนวทางการเพาะปลูก เพื่อนำไปต่อยอดสร้างผลผลิตต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ มะนาวพันธุ์แป้น เป็นมะนาวเพื่อการบริโภคสดเป็นส่วนใหญ่ ขายได้ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้น เกษตรกรของจังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะในเขตอำเภอท่ายาง แก่งกระจาน บ้านลาด และอำเภออื่น ๆ จึงได้หันมาปลูกมะนาวแป้นมากขึ้นนั่นเอง
เอกลักษณ์ทั้ง 3 รสแห่งเมืองเพชรบุรี ในวันนี้ อพท. สำนักงานพื้นที่พิเศษ 8 นำมาต่อยอดกลายเป็นชุมชนต้นแบบด้วยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งระบบ ตั้งแต่ชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ร่วมกันต่อยอดและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ยกระดับชุมชนให้มีศักยภาพ สุดท้ายก่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เพื่อมุ่งเป้าสู่มาตรฐานสากลต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก สวนตาลลุงถนอม ต.ถ้ำรงค์ จ.เพชรบุรี
เฟซบุ๊ก ยุ้งเกลือ บ้านแหลม